ทุกวันนี้เวลาเลือกหมวกกันน็อคคุณเลือกกันอย่างไร วันนี้เราจะมาบอกถึงวิธีการเลือกหมวกกันน็อคที่ถูกวิธีเพื่อการปกป้องและความปลอดภัยสูงสุดของคุณ
อันดับแรกที่เราจะพูดถึงคือ ประเภทของหมวกกันน็อคก่อน ซึ่งตามท้องถนน ตามร้านขายหมวกกันน็อคนั้นมีหลากหลายประเภท การป้องกันและการใช้งานก็แตกต่างกันออกไป

แบบที่ 1 แบบเต็มหน้า (Full Face)

เป็นหมวกที่ออกแบบมาให้ครอบศีรษะได้ทั้งหมดตั้งแต่ด้านบนศีรษะจนปิดคางถึงท้ายทอย ภายในบุนวมให้รับกับกะโหลกและห่อหุ้มศีรษะแบบแทบจะไม่มีช่องว่าง บริเวณตาและจมูกมีช่องเปิดให้สามารถมองเห็นและหายใจโดยปิดด้วยกระจกบังลมหรือชิลด์หน้า ซึ่งชิลด์หน้าก็มีมาตรฐานแตกต่างกันออกไปอีกว่าสามารถรับแรงกระแทก รอยขีดข่วนหรือหินกระเด็นใส่ได้ดีแค่ไหน ทั้งนี้ทั้งนั้นหมวกประเภทเต็มหน้าได้รับการยอมรับว่าสามารถปกป้องอวัยวะได้ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาหมวกกันน็อคประเภทอื่น

แบบที่ 2 แบบออฟโรดหรือมอเตอร์ครอส (Off Road, Motorcross)

หมวกกันน็อคประเภทนี้คล้ายกับแบบเต็มหน้ามากความปลอดภัยทัดเทียมกัน เพียงแค่ดัดแปลงเล็กน้อยให้เหมาะกับการขับขี่แบบออฟโรดโดยเฉพาะ ด้วยส่วนหน้าด้านบนยื่นออกมาเพื่อบังแสงแดดและส่วนคางที่ยืดออกมาเพื่อป้องกันโคลนหรือเศษดินกระเด็นใส่ขณะขับขี่ แต่หมวกประเภทนี้จะไม่มีกระจกบังลม ซึ่งผู้ขับขี่นิยมใส่แว่นกันลมเองเสียมากกว่า

แบบที่ 3 แบบเต็มใบหรือเปิดหน้า (Open Face)

เป็นหมวกยอดฮิตในรูปแบบการขับขี่ระยะใกล้ๆ หรือขับขี่ในเมืองที่ไม่เร็วมากนัก จุดเด่นคือไม่มีที่ป้องกันตรงคางแต่มีกระจกบังลมที่ครอบปิดลงมาถึงคาง ซึ่งสามารถกันลมและฝุ่นได้ดี โดยหมวกชนิดนี้จะคลุมเพียงสามในสี่ของศีรษะเท่านั้น

แบบที่ 4 แบบโมดูล่า (Modular)

รูปทรงแบบหมวกเป็นแบบเดียวกับแบบเต็มหน้าแต่แตกต่างกันที่สามารถดันยกคางขึ้นได้ สะดวกในการพูดคุยขณะแวะพักหรือจอดรถโดยไม่ต้องถอดหมวก แต่อย่างไรก็ดีหากเทียบความปลอดภัยสูงสุด หมวกชนิดนี้ก็ยังเป็นรองจากหมวกกันน็อคแบบเต็มหน้า เพราะหมวกประเภทนี้มี 2 มาตรฐานได้แก่ –P หมายถึง ออกแบบมาเพื่อปกป้องบริเวณคาง และแบบ –NP ออกแบบไม่รองรับบริเวณคาง

แบบที่ 5 แบบครึ่งใบ

หมวกกันน็อคประเภทนี้มีความปลอดภัยน้อยที่สุดเพราะออกแบบมาครอบศีรษะได้เพียงครึ่งบนเท่านั้น ไม่สามารถปกป้องบริเวณท้ายทอย ซึ่งมีความสำคัญมากเช่นกันได้

เมื่อรู้จักประเภทของหมวกกันน็อคกันแล้วก็จะขอพูดถึงมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองหมวกกันน็อค ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้ได้รับการทดสอบความแข็งแรง ทนทาน การปกป้องอวัยวะและความสะดวกสบายในการใช้งาน

1. มาตรฐาน DOT (FMVSS218)

เป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการทดสอบประสิทธิภาพและครอบคลุมไปถึงการทดสอบการผลิตของโรงงานและขีดความสามารถในการผลิตว่าเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ โดยมาตรฐานนี้กำหนดขึ้นโดยสำนักงานขนส่งประเทศสหรัฐอเมริกา

2. มาตรฐาน SNELL 2000

เป็นมาตรฐานที่หลายประเทศยอมรับและใช้อยู่ มีการปรับปรุงพัฒนาการทดสอบอย่างต่อเนื่อง โดยหลักการทดสอบคือ ความแข็งแรงของหมวก ความคงทนเมื่อเกิดแรงกระแทก ความสะดวกสบายในการสวมใส่

3. มาตรฐาน E2205

เป็นมาตรฐานที่ใช้กันมากในยุโรป ด้วยการทดสอบที่รุนแรงด้วยแรงกระแทกแบบ 3 แกน ทำให้มาตรฐานนี้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับอย่างมากกับหมวกกันน็อคที่จะใช้ในสนามแข่งขันรถจักรยานยนต์

4. มาตรฐาน JIST 8133 : 2000

เป็นมาตรฐานที่รวมการทดสอบเด่นๆ ของมาตรฐาน DOT และ E2205 มารวมเข้าไว้ด้วยกัน เป็นมาตรฐานที่ใช้บังคับในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการทดสอบจะแบ่งตามประเภทของหมวกแต่ละชนิด

5. มาตรฐาน มอก. TIS369-2539

เป็นมาตรฐานที่ใช้ในประเทศไทย โดยมีกฎหมายบังคับไว้ว่าหมวกกันน็อคทุกใบจะต้องได้รับเครื่องหมายและผ่านมาตรฐานนี้ โดยปัจจุบันมาตรฐานนี้เป็นสากลมากยิ่งขึ้นด้วยการใช้ร่วมกับมาตรฐานนานาชาติคือ UNECE R22

วิธีการเลือกหมวกกันน็อค

1. เลือกหมวกให้พอดีและกระชับกับศีรษะ

อันดับแรกเราต้องทราบขนาดของศีรษะตัวเองก่อน โดยวัดรอบบริเวณส่วนที่กว้างที่สุดของศีรษะคือ เหนือคิ้วขึ้นไปเล็กน้อย เมื่อได้หน่วยเท่าไรก็นำไปเทียบกับตารางวัดไซส์หมวกกันน็อค แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ เมื่อคุณได้รับหมวกแล้วควรลองสวมใส่โดยสวมโม่งก่อนและรัดเข็มขัดรัดคางให้เรียบร้อย ลองขยับศีรษะโดยอาจจะหันซ้ายหันขวา หากหมวกพอดีหมวกจะหันตามศีรษะเราไป แต่ถ้าไม่พอดีเราจะรู้สึกว่าหมวกขยับได้ และอีกวิธีให้ใช้มือดันด้านหลังหมวกเข้าหาตัว เกร็งคอเล็กน้อยเพื่อออกแรงต้านแล้วจึงสอดนิ้วก้อยเข้าไปในหมวกบริเวณหน้าผาก หากสอดเข้าไปได้ทั้งนิ้วแสดงว่าหมวกหลวมเหลือพื้นที่มากเกินไป ควรเลือกหมวกที่ไซส์เล็กลงอีกหนึ่งไซส์ ซึ่งในห้องตลาดตอนนี้ก็มีแบรนด์หมวกคุณภาพดีมากมาย ที่มีไซส์มาตรฐานสากลไว้ใจได้ อาทิ ARAI, NITEK, RIDER, SHOEI ฯลฯ นั่นเอง

2. น้ำหนักของหมวก

น้ำหนักของหมวกกันน็อคจะแสดงชัดเจนอยู่ที่ด้านหลังของหมวก ควรเลือกหมวกที่ไม่หนักเกินไปเพื่อที่เมื่อเราใส่เป็นเวลานานๆ จะไม่เกิดอาการเมื่อยล้าต้นคอและมีความคล่องตัวในการหันซ้ายหันขวามากยิ่งขึ้น

3. กระจกบังลมหรือชิลด์หน้า

ควรเลือกที่มีความแข็งแกร่ง ยืดหยุ่น กันรอยขูดขีด หรือรับแรงกระแทก เศษหิน/ทรายปลิวได้อย่างดีและที่สำคัญการเปิด/ปิดชิลด์ควรจะคล่องตัว สไลด์ได้ง่ายไม่ยากแต่ก็ควรมีตัวล็อคที่แน่นหนาด้วย

4. การถอดหลังอุบัติเหตุ

เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันสิ่งสำคัญเมื่อเจ้าหน้าที่พยาบาลเข้าช่วยเหลือคือ จะต้องสามารถถอดหมวกกันน็อคได้อย่างรวดเร็วเพื่อทำการช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบเหตุ โดยมาตรฐาน SNELL กำหนดไว้ว่าจะต้องสามารถถอดหมวกกันน็อคได้ภายในเวลา 30 วินาที

5. ถอดบุนวมรองในออกมาทำความสะอาดได้

กลิ่นอับชื้นและความสะอาดเป็นสิ่งที่ลืมไม่ได้ โดยเฉพาะเมืองไทยที่อากาศร้อนชวนเหงื่อไหลไคลย้อยตลอด หากบุนวมรองในไม่สามารถถอดออกมาซักทำความสะอาดได้คงเกิดกลิ่นไม่พึ่งประสงค์อย่างรุนแรงที่สุดทีเดียว

6. หมวกกันน็อก Full Option

ในปัจจุบันมีการออกแบบหมวกกันน็อคที่สามารถติดวิทยุสื่อสารและ Bluetooth ที่เชื่อมต่อกับโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้เพื่อความสะดวกในการติดต่อกับผู้อื่นขณะขับขี่ ไม่ต้องกังวลว่าจะพลาดการรับสายอีกต่อไป นอกจากนี้ยังสามารถเปิดเพลงฟังในหมวกได้อีกด้วย

7. ห้ามใช้หมวกใบเดิมหลังจากที่เคยประสบอุบัติเหตุ

หลายๆ คนไม่ค่อยจะทราบข้อนี้ว่า เมื่อหมวกกันน็อคใบนั้นๆ เคยเกิดอุบัติเหตุมาแล้วโฟมขึ้นรูปด้านในจะไม่คืนตัวหลังเกิดแรงกระแทก ดังนั้นหมวกใบนั้นจึงไม่สามารถปกป้องศีรษะได้อีกต่อไป คุณควรเปลี่ยนใบใหม่ทันที่และไม่ควรใช้ใบเดิมในการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์อีก

SPEED UP YOU LIFE
G-Rider